เคลียร์ทุกประเด็น! “บิ๊กปลาย” ไขข้อข้องใจดรามาศึก ONE ลุมพินี

จิติณัฐ อัษฎามงคล หรือ “บิ๊กปลาย” ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย เปิดมุมมองหลากหลายผ่านรายการ ONE Podcast EP.12 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมข่าวได้สรุป 10 ประเด็นสำคัญมาให้ติดตามกันอย่างครบถ้วน

“บิ๊กปลาย” จิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย

“บิ๊กปลาย” เปิดเผยว่าการเกิดขึ้นของ ONE ลุมพินี ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่เปลี่ยนภาพจำของวงการมวยไทยอย่างสิ้นเชิง จากเวทีที่เคยถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมของนักพนัน กลายเป็นสนามกีฬาแห่งความบันเทิงสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ผ่านโมเดล “มวยไทยสีขาว” ที่ยกระดับมาตรฐานการแข่งขัน โปรดักชัน และคุณภาพชีวิตนักกีฬาอย่างเป็นรูปธรรม

รายการ ONE ลุมพินี ยังช่วยฟื้นฟูวงการมวยไทยในระดับรากหญ้า เปิดโอกาสให้นักสู้หน้าใหม่จากทั่วประเทศได้แจ้งเกิดบนเวทีระดับโลก พร้อมจุดประกายความฝันให้เยาวชนไทยหันมาสนใจกีฬาการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์

นอกจากนี้ รายงานเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณฉบับล่าสุดจาก Nielsen ยังตอกย้ำบทบาทของ ONE ในฐานะ “ฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่” ที่ขับเคลื่อนประเทศอย่างแท้จริง โดยการแข่งขันภายใต้แบรนด์ ONE สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับประเทศไทยกว่า 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ผ่านการจัดอีเวนต์ศิลปะการต่อสู้และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งไปกว่านั้น สถิติเผยว่า 82% ของผู้ชมต่างชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมของ ONE คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยพวกเขาตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย “เพียงเพื่อชมการแข่งขันของ ONE” โดยเฉพาะ สิ่งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงเสน่ห์ของมวยไทยที่ถูกถ่ายทอดในระดับสากล แต่ยังตอกย้ำพลังของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ไทยที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก

จากเวทีเล็ก ๆ ในประเทศ ONE ได้สร้างเวทีที่โลกจับตามอง และยังคงเดินหน้าเปลี่ยนแปลงวงการมวยไทยไปในทิศทางที่ยั่งยืนและสง่างามอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยของบรรดาแฟนมวยในวงกว้างเกี่ยวกับระบบการทำงานในด้านต่าง ๆ ของ ONE และประเด็นดรามาที่เกิดขึ้นในศึก ONE ลุมพินี ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา “บิ๊กปลาย” จึงถือโอกาสนี้ชี้แจงแถลงไขให้ทราบโดยทั่วกันในหัวข้อต่อไปนี้

#1 ONE ไม่เกี่ยวข้องกับเว็บพนัน

ONE เติบโตในไทยอย่างรวดเร็ว

เมื่อมวยไทยได้รับความนิยมมากขึ้นหลังความนิยมของรายการ ONE ลุมพินี พุ่งสูงขึ้น จึงเริ่มมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยเฉพาะเว็บพนันเข้ามาแอบอ้างว่า ONE ให้การสนับสนุน ทุกคนจึงควรตรวจสอบข้อมูลอย่างมีสติ และไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมเหล่านี้

“ผมขอยืนยันว่า วัน แชมเปียนชิพ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันใด ๆ ทั้งสิ้น ล่าสุดมีการนำคลิป คุณชาตรี มาปรับแต่งโดยใช้ AI ทำให้คนเข้าใจผิดว่า คุณชาตรี สนับสนุนเว็บพนัน”

“ตามหลักสากล โปรโมเตอร์ไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกับเว็บพนันได้ ดังนั้นจึงไม่มีทางที่ คุณชาตรี หรือ วัน แชมเปียนชิพ จะไปสนับสนุนเว็บพนัน เพราะฉะนั้นใครที่เห็นโฆษณาดังกล่าวสามารถบอกได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ โปรดระวังถูกหลอกด้วยนะครับ”

#2 ชี้แจงเรื่องการพันมือ

ยูกิ โยซะ

กรณีที่ “ยูกิ โยซะ” ซูเปอร์สตาร์คิกบ็อกซิ่งจากญี่ปุ่น วัย 27 ปี ไม่ได้ทำการพันมือระหว่างแข่งขันในไฟต์เปิดตัวชนะคะแนนเอกฉันท์ “เอลบรุส ออสมานอฟ” จากรัสเซีย ในศึก ONE ลุมพินี 109 เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทาง “บิ๊กปลาย” ได้ออกมาชี้แจงว่า

“หลายคนไม่รู้ว่าการพันมือในการชกมวยเป็นเรื่องสมัครใจ แต่ต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ เพราะการพันมือช่วยลดการบาดเจ็บและทำให้หมัดหนักขึ้นเล็กน้อย อย่างกรณีของ ยูกิ เขาคุ้นเคยกับการชกมือเปล่าจากคาราเต้ เขาจึงเลือกไม่พันมือเพราะมั่นใจในกำปั้นของตัวเอง แต่ถ้าเกิดอาการเจ็บทางเราพร้อมดูแลรักษาเต็มที่เหมือนเดิม”

#3 เหตุผลที่ต้องวัดค่าน้ำในร่างกาย

ONE สร้างมาตรฐานใหม่ในการชั่งน้ำหนัก-วัดค่าน้ำ

ปัญหาเรื่องนักกีฬาทำ “ค่าน้ำในร่างกาย” ไม่ผ่านมีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ จนแฟน ๆ หลายคนรู้สึกเหนื่อยแทน และเกิดข้อสงสัยว่ามีความจำเป็นแค่ไหน งานนี้ “บิ๊กปลาย” ตอบย้ำชัดเจนว่า กระบวนการดังกล่าวมีทั้งความสำคัญและปลอดภัยสำหรับตัวนักกีฬาเองด้วย

“กฎของ ONE คือ ‘ค่าน้ำต้องผ่าน’ หากไม่ผ่านจะห้ามขึ้นชกโดยเด็ดขาด เพราะการขาดน้ำมากเกินไปส่งผลอันตรายถึงชีวิต เช่น สมองขาดน้ำ เสี่ยงหมดสติ หรือเลือดออกในสมอง ดังนั้น หากนักมวยทำค่าน้ำไม่ผ่าน ต้องดื่มน้ำให้ค่าน้ำผ่านก่อน แล้วจึงเจรจากับคู่ชกเพื่อต่อสู้ในพิกัดใหม่ (น้ำหนักต่างไม่เกิน 5%) โดยต้องยอมเสียค่าต่อน้ำหนัก และไม่มีสิทธิ์ชิงแชมป์หรือรับโบนัส ส่วนคู่ชกที่ทำค่าน้ำผ่านจะได้รับค่าตัวเต็มจำนวน”

#4 ตรวจสารกระตุ้นแบบเข้มข้น

“ดิมิทรี” หนึ่งในนักกีฬาที่โดนลงโทษแบน

“การตรวจหาสารกระตุ้นในวงการศิลปะการต่อสู้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน รวมถึงป้องกันอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้เองด้วย”

“ONE จึงร่วมมือกับองค์กรตรวจสารกระตุ้นระดับนานาชาติจากสวีเดน ซึ่งดูแลอีเวนต์กีฬากว่า 300 รายการทั่วโลก และอ้างอิงรายชื่อสารต้องห้ามจากองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) เพื่อความเป็นกลางสูงสุด โดยใช้การตรวจแบบสุ่ม ไม่ว่านักมวยจะมีโปรแกรมขึ้นชกหรือไม่ หรืออยู่ที่ไหน ก็มีสิทธิ์ถูกเรียกตรวจได้ทุกเมื่อครับ”

 

#5 ทำไมนักกีฬาชนะหลายไฟต์แต่ยังไม่ได้สัญญา?

“ชาติพยัคฆ์” ชนะ 7 ไฟต์รวดยังเฝ้ารอสัญญา ONE

แฟนมวยหลายท่านสงสัยและตั้งข้อสังเกตว่า มีนักมวยฝีมือดีหลายคนที่เก็บชัยชนะได้ต่อเนื่องหลายไฟต์ แต่ยังคงเฝ้ารอโอกาสได้สัญญา ONE มาครอง โดยตามหลักการแล้วนักสู้ที่จะได้สิทธิ์ดังกล่าวต้องผ่านกระบวนพิจารณาโดยรวมและต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ด้วย

“การได้สัญญากับ ONE ไม่ได้วัดแค่จำนวนชัยชนะหรือการน็อกคู่ต่อสู้ แต่ดูภาพรวมของฟอร์มการชก แววความเป็นซูเปอร์สตาร์ และความสามารถในการขายตัวเองผ่านสไตล์การชก นักกีฬาบางคนแม้ไร้พ่าย แต่ยังขาดแรงจูงใจในการปิดเกมหรือยังไม่เจอกับคู่ต่อสู้ระดับท็อป ก็อาจยังไม่พร้อมสำหรับเวทีใหญ่”

“นอกจากนี้ การสร้างตัวตนผ่านโซเชียลมีเดียก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะ ONE คือสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ ไม่ใช่แค่การแข่งขันกีฬาเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น แสตมป์, รถถัง, ซุปเปอร์บอน, ตะวันฉาย ที่มีแฟนคลับทั่วโลก นักกีฬาที่ไม่มีชื่อเสียงในวงกว้างจะถูกผลักดันให้เป็นที่รู้จักได้ยาก นักกีฬาที่จึงต้องรู้จักสื่อสาร ดูแลภาพลักษณ์ และสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ชัดเจนเพื่อก้าวสู่ระดับโลกครับ”

#6 แนวทางจัดการนักชกที่ฟอร์มต่ำกว่ามาตรฐาน

“ฉลามดำ” นักชกที่ตกเป็นข่าวว่าสู้ได้ไม่สมศักดิ์ศรี

ขณะที่นักมวยบางคนเมื่อได้รับโอกาสแล้วกลับแสดงผลงานไม่ได้ตามมาตรฐานที่ทางรายการคาดหวังเอาไว้ ทาง ONE วิธีการจัดการดูแลตามความเหมาะสม เพื่อทำให้การแข่งขันออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

“เวที ONE และ ONE ลุมพินี คือโอกาสระดับโลกที่มีจำกัดในแต่ละปี หากได้รับโอกาสนี้ นักกีฬาต้องทุ่มเทเต็มที่ ชกอย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ใช่ขึ้นเวทีไปสู้แบบยอมแพ้ง่าย ๆ เพราะนั่นสะท้อนว่าคุณยังไม่พร้อมสำหรับระดับประเทศหรือระดับโลก เราจึงขอความร่วมมือจากค่ายและโปรโมเตอร์ในการดูแลนักกีฬาอย่างใกล้ชิด ห้ามปล่อยให้เกิดพฤติกรรมที่บั่นทอนศักดิ์ศรี และต้องไม่มีการแทรกแซงผลการแข่งขันโดยเด็ดขาดครับ”

#7 นักกีฬา ONE ไปชกรายการอื่นได้หรือไม่?

นาบิล อานาน

กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อมีกระแสข่าวว่า “นาบิล อานาน” แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นแบนตัมเวต (135-145 ป.) เฉพาะกาล จะเข้าร่วมทีมมวยสากลของทีมชาติไทยแข่งขันในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ซึ่งทาง “บิ๊กปลาย” ได้ออกมาย้ำชัดถึงเรื่องนี้อีกครั้งอย่างชัดเจน

“โดยทั่วไป ONE ไม่อนุญาตให้นักกีฬาที่มีสัญญาไปแข่งขันรายการอื่น ยกเว้นบางกรณีพิเศษ เช่น นักกีฬาที่ห่างเวทีไปนานและต้องการเรียกฟอร์มในบ้านเกิด แต่หากเป็นนักกีฬามืออาชีพระดับแชมป์ การไปแข่งในระดับสมัครเล่นถือว่าไม่เหมาะสม เพราะเวทีสมัครเล่นควรสงวนไว้สำหรับนักกีฬาสมัครเล่น การส่งนักชกระดับท็อปร่วมแข่งขัน อาจถูกมองว่าเอาเปรียบนักกีฬาสมัครเล่น และชัยชนะที่ได้มาอาจไม่น่าภูมิใจเท่าที่ควร”

“นอกจากนี้ การเก็บตัวเพื่อแข่งขันรายการสมัครเล่น เช่น โอลิมปิก อาจทำให้นักกีฬาต้องห่างจากเวทีอาชีพไปหลายปี ซึ่งถือเป็นการเสียโอกาส เพราะในความเป็นจริง การได้เข็มขัดแชมป์โลก ONE มีเกียรติไม่แพ้เหรียญทองโอลิมปิก หลายประเทศยกย่องแชมป์โลก ONE ในฐานะฮีโรระดับชาติ และสังเวียน ONE คือจุดสูงสุดของนักกีฬาต่อสู้ระดับอาชีพ ทั้งในแง่รายได้ ชื่อเสียง และโอกาสเปลี่ยนชีวิตอย่างแท้จริงครับ”

#8 ค่าตัวนักกีฬาไม่เท่ากัน

“รถถัง – ทาเครุ” นักสู้ค่าตัวระดับท็อปของ ONE

“ค่าตัวของนักกีฬา ONE แต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ฝีมือ และมูลค่าทางการตลาด ยกตัวอย่าง ทาเครุ (เซกาวา) ที่ได้รับค่าตัวสูงเพราะชื่อของเขาสามารถดึงดูดผู้ชมและขายตั๋วในญี่ปุ่นได้ ซึ่งเป็นตลาดที่พร้อมจ่ายเพื่อชมกีฬาการต่อสู้อย่างจริงจัง

“ดังนั้น นักกีฬาที่มีฐานแฟนคลับจำนวนมาก โดยเฉพาะในหลายประเทศ ย่อมมีมูลค่าในสายตาผู้จัดมากขึ้น และโอกาสที่จะได้ค่าตัวสูงก็ยิ่งเพิ่มตามไปด้วยครับ”

#9 ONE ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ไม่ใช่สไตล์มวย

ก้องศึก vs ลำน้ำมูล (18 เม.ย.68)

“ที่ว่ามวยเดินเท่านั้นถึงจะชนะใน ONE ไม่เป็นความจริงครับ ทั้งมวยเดินและมวยถอยมีโอกาสชนะเท่ากัน ขึ้นอยู่กับการออกอาวุธที่เข้าเป้าและสร้างความเสียหายได้มากแค่ไหน แม้โดนนับก่อน แต่หากลุกขึ้นมาทำเกมโต้กลับจนคู่ชกเสียหายชัดเจนก็มีสิทธิ์พลิกชนะได้”

“ใน ONE ไม่มีผลเสมอ หากคะแนนสูสี กรรมการต้องเลือกผู้ชนะ โดยวัดจากระดับความเสียหายเป็นหลัก เช่น อาการมึนชัดเจน การล้ม หรือนับ จะมีค่าน้ำหนักมากที่สุด ส่วนแผลแตกถือเป็นความเสียหายผิวเผิน เพราะอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การตัดสินใน ONE จึงมีความซับซ้อนและขึ้นอยู่กับมุมมองของกรรมการแต่ละคน ซึ่งไม่สามารถสื่อสารกันได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผลบางไฟต์จะไม่ตรงกับความรู้สึกของผู้ชมครับ

#10 เป้าหมายต่อไปของ ONE ลุมพินี

“บอสชาตรี” พร้อมพา ONE เติบโตต่อเนื่อง

“เป้าหมายต่อไปของ ONE ลุมพินี คือการมีส่วนร่วมในการยกระดับประเทศไทย โดยใช้ ‘มวยไทย’ เป็นหัวใจหลัก รายการของเราเป็นการแข่งขันกีฬาต่อสู้ที่มีฐานผู้ชมมากที่สุดในโลก และเราต้องการใช้คอนเทนต์นี้ผลักดันประเทศไทยสู่เวทีโลก เช่นเดียวกับที่อเมริกามีฮอลลีวูด, ญี่ปุ่นมีมังงะ และเกาหลีใต้มีเคป็อป”

“วันนี้ประเทศไทยมี ONE ลุมพินี ซึ่งนำเสนอ ‘มวยไทย’ ในระดับสากล พร้อมเปิดพื้นที่ให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก เราไม่ได้แค่สร้างปรากฏการณ์เพื่อยกระดับมวยไทย แต่เป้าหมายต่อไปคือการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับในระดับโลกผ่านพลังของกีฬาและวัฒนธรรมไทยครับ”